ร่างกายของเราในทุก ๆ วันนั้นมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา จนมีบ้างบางครั้งที่ต้องประสบพบกับความตึงของกล้ามเนื้อที่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดหรือไม่กล้าจะขยับอวัยวะจุด ๆ นั้นเลยทีเดียว ในบทความนี้เราเล็งเห็นถึงความสำคัญของสุขภาพที่เริ่มจากจุดเล็ก ๆ นั่นก็คือการยืดกล้ามเนื้อนั่นเอง ประโยชน์ของเทคนิคนี้ นอกจากจะช่วยให้ร่างกายเรายืดหยุ่นและปลดปล่อยความตึงเครียดที่สะสมในกล้ามเนื้อแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพกระดูกและข้อให้แข็งแรงด้วย ด้วยการแบ่งปันทักษะให้คุณได้รู้วิธีเพิ่มความยืดหยุ่น ป้องกันการบาดเจ็บ ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ส่งเสริมการฟื้นฟูและบำรุงเนื้อเยื่อรอบ ๆ กระดูกและข้อผ่าน 5 เทคนิคการยืดกล้ามเนื้อ ด้วยการรวมเทคนิคเหล่านี้เข้ากับกิจวัตรประจำวันของคุณ คุณจะพบกับการเปลี่ยนแปลงที่น่าพอใจในการเคลื่อนไหวและความสามารถในการทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยไม่มีข้อจำกัด
ทำไมเราต้องยืดกล้ามเนื้อ?
การยืดกล้ามเนื้อ เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมออกกำลังกายที่ครอบคลุมประโยชน์ต่อสุขภาพในหลายๆ ด้าน ทั้งนี้เพราะการยืดไม่เพียงแต่ช่วยให้ร่างกายยืดหยุ่นและลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บเท่านั้น แต่ยังช่วยให้กระดูกและข้อแข็งแรงอีกด้วย ดังนั้น การกระทำนี้จึงมีความสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างมาก
ไขข้องข้อสงสัย ทำไมถึงดีต่อสุขภาพ
- เพิ่มความยืดหยุ่นและเคลื่อนไหวง่ายขึ้น: การยืดกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอช่วยเพิ่มระดับความยืดหยุ่น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันการบาดเจ็บและช่วยให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระและง่ายดาย
- ปรับปรุงการไหลเวียนของเลือด: การยืดกล้ามเนื้อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งหมายความว่าเซลล์ในร่างกายจะได้รับออกซิเจนและสารอาหารมากขึ้น ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวจากการออกกำลังกายได้เร็วขึ้น
- ลดความเครียดและปรับปรุงสุขภาพจิต: การยืดกล้ามเนื้อสามารถช่วยลดความเครียดและความตึงเครียดในร่างกายได้ นอกจากนี้ยังช่วยปรับปรุงสุขภาพจิต ส่งผลให้มีความสุขและสงบมากขึ้น
การยืดกล้ามเนื้อช่วยให้กระดูกและข้อแข็งแรงอย่างไร
- เพิ่มการส่งเลือดและอาหารไปยังกระดูกกับข้อ: การยืดกล้ามเนื้อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ซึ่งไม่เพียงแต่นำสารอาหารไปยังกล้ามเนื้อเท่านั้น แต่ยังส่งเลือดช่วยส่งผ่านคอลลาเจน เสริมสร้างกระดูกและข้อทำให้แข็งแรงขึ้น
- ป้องกันการสึกหรอของข้อต่อ: จังหวะการเคลื่อนไหวและการยืดเหยียดกล้ามเนื้อที่ดี สามารถลดแรงเสียดสีและการสึกหรอของข้อต่อได้ ทำให้ร่างกายขยับได้คล่องตัวและลดความเสี่ยงโรคเกี่ยวกับข้อต่อที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
- สนับสนุนการทำงานของกระดูก: เมื่อเราขยับและยืดตัว กล้ามเนื้อรอบข้อต่อก็จะแข็งแรงขึ้น ลดความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุนและโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระดูก
5 เทคนิคการยืดกล้ามเนื้อ ฟิตกระดูกกับข้อให้แข็งแรง
ยืดแบบเคลื่อนไหว (Dynamic Stretching)
เทคนิคการยืดกล้ามนี้ จะเน้นไปที่การเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องและควบคุมจังหวะ เพื่อเตรียมพร้อมอุ่นเครื่องร่างกายหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ วิธีนี้ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้อง ทำให้อุณหภูมิกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นและเกิดความยืดหยุ่นที่มากขึ้นตามมา ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการบาดเจ็บระหว่างท่า อีกทั้งเสริมประสิทธิภาพในการฝึกฝนยิ่งขึ้น นอกจากนี้การยืดแบบไดนามิคยังเชื่อมต่อการประสานงานระหว่างสมองและกล้ามเนื้อ เพิ่ทความคล่องแคล่ว ช่วยให้ร่างกายทำงานได้ดียิ่งขึ้นในระหว่างกระบวนการเคลื่อนไหวที่ซับซ้อนหรือรวดเร็วขึ้น
ตัวอย่างท่า
- ส่ายขา: ให้ยืนตัวตรงและหาจุดยึดเพื่อความสมดุล เช่น จับขอบเก้าอี้หรือโต๊ะ จากนั้นยกขาหนึ่งข้างขึ้นสูงและเริ่มส่ายไปมาอย่างเป็นจังหวะในแนวดิ่ง ทำแบบเดียวกันกับอีกข้างหนึ่ง เป็นวิธีที่ดีเยี่ยมในการเตรียมความพร้อมให้กับกล้ามเนื้อส่วนหลังขาและด้านหน้าขา ช่วยให้กล้ามเนื้อเหล่านี้ยืดหยุ่นและพร้อมสำหรับกิจกรรมต่างๆ
- วิ่งเหยียบส้นอยู่กับที่: ยืนตัวตรงและเริ่มวิ่งเบาๆ ให้เน้นการเหยียบส้นลงพื้นให้มากที่สุด โดยไม่ต้องขยับไปข้างหน้า เทคนิคนี้ช่วยให้กล้ามเนื้อน่องเตรียมตัวสำหรับการออกกำลังกาย และเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับข้อเท้า ทำให้การเคลื่อนไหวของข้อเท้าสะดวกและลดโอกาสในการบาดเจ็บ
- โยกตัว: ยืนตรงและโน้มตัวไปข้างหน้าจากเอว พร้อมทั้งยืดแขนไปด้านหลังและเริ่มแกว่งไปมาอย่างช้าๆ เป็นการยืดกล้ามเนื้อหลังส่วนล่างและเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับบริเวณนี้ ช่วยให้หลังของคุณแข็งแรงและลดโอกาสในการเกิดอาการปวดหลังจากการนั่งหรือยืนนานๆ
ยืดแบบเหยียดค้าง (Static Stretching)
เป็นวิธีการยืดที่ทำง่ายโดยไม่ต้องเคลื่อนไหวมาก โดยคงท่านั้นๆ ไว้สักครู่เพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นและลดอาการเมื่อยล้าจากการออกกำลังกาย การยืดในรูปแบบนี้มีประโยชน์มากมาย ทั้งช่วยเพิ่มความสามารถในการเคลื่อนไหว, ลดความตึงเครียดในกล้ามเนื้อ, และกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดให้ดีขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการฟื้นฟูกล้ามเนื้อให้กลับมาแข็งแรง เราจะเห็นได้บ่อยว่านักกีฬาชอบนำวิธียี้ไปใช้ เพราะช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายและฟื้นตัวได้ดีที่สุด จึงสมควรทำเป็นกิจวัตรประจำหลังออกกำลังกาย เพื่อความแข็งแรงกล้ามเนื้ออย่างต่อเนื่อง
ตัวอย่างท่า
- ยืดกล้ามเนื้อด้านหลังขา: เริ่มต้นด้วยการนั่งลงบนพื้น ขาขวายื่นตรง แล้วงอขาซ้ายเข้าหาตัว วางฝ่าเท้าซ้ายไว้ที่ต้นขาขวา ค่อยๆ โน้มตัวไปข้างหน้า พยายามจับที่ปลายเท้าขวา ค้างไว้ประมาณ 15-30 วินาที ก่อนจะเปลี่ยนไปทำทางด้านตรงข้าม วิธีนี้ช่วยเสริมความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อด้านหลังขา ลดอาการเมื่อยล้าได้เป็นอย่างดี
- ยืดกล้ามเนื้อไหล่และแขน: ยืนหรือนั่งให้ตัวตรง ยกแขนขวาข้ามหน้าตัว ใช้มือซ้ายจับที่ข้อศอกขวาและดึงเข้าหาตัวเบาๆ รักษาท่านี้ไว้ 15-30 วินาที และทำสลับข้าง การยืดนี้ช่วยให้กล้ามเนื้อไหล่และแขนรู้สึกผ่อนคลาย และเพิ่มความยืดหยุ่นในบริเวณช่วงแขนกับไหล่
- ยืดกล้ามเนื้อสะโพก: นั่งลงบนพื้นและงอขาทั้งสองข้าง นำฝ่าเท้ามาประกบกัน จับที่เท้าด้วยมือและใช้ข้อศอกเบาๆ ดันขาลง ค้างท่านี้ไว้ 15-30 วินาที เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อสะโพก วิธีนี้เหมาะมากสำหรับผู้ที่ต้องการลดความตึงเครียดในบริเวณสะโพกและเสริมสร้างความแข็งแรง
ศาสตร์โยคะ (Yoga)
การฝึกโยคะเป็นการฝึกฝนดูแลร่างกายและจิตใจให้สมดุล อีกทั้งเสริมสร้างสุขภาพกระดูกได้อย่างไม่น่าเชื่อ ในแต่ละท่ามักใช้น้ำหนักตัวเป็นหลัก เสริมสร้างความมั่นคงและแข็งแรงอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ยังมีท่าอื่น ๆ ที่เน้นการยืดที่เพิ่มให้ร่างกายเกิดความยืดหยุ่น ลดการเสียดสีของข้อต่อและกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต การฝึกฝนศาสตร์นี้อย่างต่อเนื่องจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ยืดหยุ่น และลดโอกาสในการเกิดอาการบาดเจ็บ ทำให้โยคะเป็นกิจกรรมที่เหมาะสำหรับทุกคนที่ต้องการบำรุงกระดูกและข้อ พร้อมกับสร้างความสงบและสมดุลให้กับจิตใจ
ตัวอย่างท่า
- ท่าต้นไม้ (วฤกษาสนา): ท่านี้เป็นการฝึกความสมดุลที่ยอดเยี่ยม ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับขา กระดูกสะโพก และข้อต่อขา นอกจากนี้ยังช่วยให้ขาและข้อเท้ามีความยืดหยุ่นมากขึ้น สามารถฝึกได้ทุกวันเพื่อเพิ่มความมั่นคงและลดความเสี่ยงจากการลื่นล้ม
- ท่านักสู้ (วีรภัทราสนา): เป็นอีกหนึ่งท่าที่ยอดเยี่ยม ช่วยกล้ามเนื้อขาและกระดูกสะโพกโดยตรง นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับกระดูกสันหลัง เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเพิ่มความแข็งแรงและความสามารถในการเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ
- ท่าเรือ (นาวาสนา): ท่าเสริมสร้างกล้ามเนื้อหน้าท้อง ทำให้กระดูกสันหลังแข็งแรง และเพิ่มความสมดุลให้กับร่างกาย ท่านี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการสร้างกล้ามเนื้อหน้าท้องและฝึกการทรงตัว
- ท่านอนหงายยกขา (สุปตะปาทางุษฐาสนา): ช่วยให้กล้ามเนื้อหลังขาและกระดูกสันหลังได้รับการยืดเหยียด ลดความตึงเครียดและเพิ่มความยืดหยุ่น ทำให้เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการเมื่อยล้าบริเวณหลังขาและต้องการปรับปรุงความยืดหยุ่นของกระดูกสันหลัง
ยืดแบบกระตุ้นระบบประสาท (PNF Stretching)
PNF หรือมีชื่อเต็ม ๆ ว่า Proprioceptive Neuromuscular Facilitation เป็นเทคนิคการยืดที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยเฉพาะ วิธีนี้รวมการยืดหดและการผ่อนคลายกล้ามเนื้อเข้าด้วยกัน เร่งเร้าให้กลไกร่างกายตอบสนองด้วยการกระตุ้นในกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่เรียกว่า proprioceptors ซึ่งช่วยในการปรับปรุงการรับรู้ตำแหน่งและการเคลื่อนไหวของร่างกาย
ขั้นตอนการทำ
- เตรียมตัว: ก่อนอื่นเลือกกล้ามเนื้อที่คุณต้องการยืด แล้วค้นหาท่าที่เหมาะสมที่สุดในการยืดส่วนนั้น ควรเริ่มด้วยการยืดเบาๆ เพื่อให้กล้ามเนื้ออบอุ่นและพร้อมสำหรับท่าที่จะทำ
- ยืดและหดกล้ามเนื้อ: ยืดกล้ามเนื้ออย่างช้าๆ ไปจนถึงจุดที่คุณรู้สึกตึง แต่ไม่เจ็บปวด และคงท่ายืดนั้นไว้ 10 วินาที จากนั้นใช้กล้ามเนื้อที่ยืดนั้นหดตัวด้วยแรงของตัวเองหรือด้วยความช่วยเหลือจากผู้ฝึกหรืออุปกรณ์ นาน 5-6 วินาที
- ผ่อนคลายและยืดเพิ่ม: หลังจากหดกล้ามเนื้อแล้ว ค่อยๆ ผ่อนคลายและพยายามยืดกล้ามเนื้อนั้นไปยังจุดที่มากขึ้นอีกครั้ง และรักษาท่านี้ไว้ 15-30 วินาที เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น
- ทำซ้ำ: ทำขั้นตอนการยืดและหดกล้ามเนื้อซ้ำอีก 2-3 รอบ โดยให้มีการพักผ่อนสั้นๆ ระหว่างรอบ เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ฟื้นตัว
ให้โฟมโรลเลอร์ช่วย (Foam Roller)
อุปกรณ์เสริมนี้กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่คนรักสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะมีประโยชน์มหาศาลช่วยให้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ลดอาการเมื่อยล้าให้กลับมาสดชื่นอีกครั้ง หนึ่งในประโยชน์ที่น่าสนใจคือ การใช้โฟมโรลเลอร์สามารถช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดได้ดีเยี่ยม นอกจากนี้ยังช่วยลดความตึงเครียดในกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดบนกระดูกและข้อต่อ โดยเฉพาะการลดจุดตึงเครียดหรือก้อนกล้ามเนื้อที่แข็ง เพื่อให้กล้ามเนื้อได้รับการผ่อนคลายและเพิ่มความยืดหยุ่นได้มากขึ้น
ข้อแนะนำในการใช้
- เริ่มต้นเบา ๆ : ในการใช้โฟมโรลเลอร์ครั้งแรก ควรเริ่มด้วยการกดเบา ๆ และค่อย ๆ เพิ่มแรงกดตามที่ร่างกายเราสามารถรับได้ เพื่อไม่ให้เกิดอาการบาดเจ็บตั้งแต่เริ่มต้น
- โฟกัสที่กล้ามเนื้อสำคัญ: ให้ความสนใจกับกล้ามเนื้อหลัก เช่น บริเวณหลังขา, น่อง, สะโพก และหลัง โดยใช้โฟมโรลเลอร์กลิ้งไปมาเบา ๆ บนบริเวณเหล่านี้
- รักษาความสม่ำเสมอ: ใช้อุปกรณ์กลิ้งไปมาบริเวณกล้ามเนื้อที่ต้องการเป็นเวลาประมาณ 30 วินาทีถึง 1 นาที สำหรับแต่ละส่วน เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
- จัดการจุดที่เจ็บ: หากพบจุดที่เจ็บปวดหรือมีความตึงเครียดมาก ให้หยุดกลิ้งที่จุดนั้นและกดเบา ๆ สักครู่ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย
- เลี่ยงบริเวณกระดูกและข้อต่อ: ควรหลีกเลี่ยงการใช้โฟมโรลเลอร์บนกระดูกหรือข้อต่อโดยตรง เพื่อป้องกันความเจ็บปวดหรือบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้น
เทคนิคผสมผสานเข้ากับชีวิตประจำวัน
ยืดช่วงเวลาพักเบรก
ในระหว่างวันทำงานที่ต้องนั่งหรือยืนนานๆ อย่าลืมหาโอกาสพักผ่อนเพื่อยืดกล้ามเนื้อสักนิด ทุกๆ ชั่วโมง ให้ลุกขึ้นและใช้เวลาสักพักสั้นๆ ในการทำท่ายืดง่ายๆ เช่น ยืดแขนขึ้นเหนือหัว หรือโน้มตัวไปข้างหน้าเพื่อยืดหลังและขา การกระทำเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว แต่ยังช่วยลดความเมื่อยล้าจากการนั่งหรือยืนนานๆ ได้ดีทีเดียว
ยืดกล้ามเนื้อขณะดูทีวี
การดูทีวีหรือฟังเพลงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการใช้ประโยชน์จากการยืดกล้ามเนื้อ เพียงแค่นั่งหรือนอนบนโซฟา คุณก็สามารถทำท่ายืดเบาๆ เช่น ยืดแขน หรือดึงขาเข้าหาตัวเพื่อยืดกล้ามเนื้อขา ทำเป็นประจำทุกครั้งที่มีเวลาว่างหรือระหว่างโฆษณา เทคนิคเหล่านี้ช่วยให้ร่างกายไม่ตึงเครียดและยังช่วยเสริมสร้างความยืดหยุ่นอีกด้วย
ยืดระหว่างกิจกรรมกลางแจ้ง
ไม่ว่าคุณจะเดินเล่นหรือวิ่งในสวนสาธารณะ ควรใช้โอกาสนี้เพื่อยืดกล้ามเนื้อก่อนและหลังการออกกำลังกาย การยืดกล้ามเนื้อก่อนเริ่มจะช่วยเตรียมพร้อมร่างกายและป้องกันการบาดเจ็บ ในขณะที่การยืดหลังการออกกำลังกายจะช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อและลดอาการเมื่อยล้า การยืดกล้ามเนื้อเป็นประจำในกิจกรรมกลางแจ้งยังช่วยให้คุณรู้สึกสดชื่นและพร้อมสำหรับกิจกรรมในวันถัดไป
ยืดกล้ามเนื้อก่อนนอน
ทำท่ายืดเบาๆ ก่อนเข้านอนเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อและปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับของคุณ การยืดกล้ามเนื้อสามารถช่วยลดความตึงเครียดและความเครียดในร่างกาย ทำให้คุณนอนหลับได้สบายขึ้น ลองทำท่ายืดหลัง หรือยืดขาหน้าเข่าก่อนเข้านอน เพื่อช่วยให้ร่างกายคุณรู้สึกผ่อนคลายและเตรียมพร้อมสำหรับการนอนหลับที่ดี
การยืดกล้ามเนื้อเป็นส่วนสำคัญในการรักษาสุขภาพกระดูกและข้อให้แข็งแรง ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและลดความตึงเครียดบนข้อต่อเท่านั้น แต่ยังช่วยป้องกันการบาดเจ็บจากการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันและเพิ่มประสิทธิภาพในการออกกำลังกาย ด้วยเทคนิคการยืดกล้ามเนื้อที่หลากหลาย เช่น Dynamic Stretching, Static Stretching, การใช้ Yoga, PNF Stretching, และการใช้โฟมโรลเลอร์ ซึ่งสามารถผสมผสานเข้ากับกิจกรรมประจำวันได้อย่างง่ายดาย เราแนะนำให้86Iลองนำเทคนิคเหล่านี้ไปปรับใช้ เพื่อช่วยเสริมสร้างและรักษาสุขภาพกระดูกและข้อให้ดีขึ้น เพื่อผลประโยชน์ที่ยั่งยืนต่อร่างกายและคุณภาพชีวิตในทุกๆ วัน
คำถามที่พบบ่อย
- การยืดกล้ามเนื้อ ควรทำก่อนหรือหลังออกกำลังกาย?
ควรทำการยืดกล้ามเนื้อแบบไดนามิกก่อนออกกำลังกายทุกครั้ง เพื่อเตรียมพร้อมร่างกายและลดโอกาสการบาดเจ็บ และคูลดาวน์ด้วยยืดกล้ามเนื้อแบบเหยียดค้าง เพื่อช่วยในการฟื้นฟูกล้ามเนื้อและลดความเมื่อยล้า - เราควรยืดกล้ามเนื้อทุกวันหรือไม่?
คุณสามารถทำได้และมีประโยชน์ การยืดเป็นประจำสามารถช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น ลดความเครียดและความอ่อนล้า แต่ควรทำด้วยความระมัดระวังและไม่ควรยืดจนเกินไปจนเจ็บ - หากมีอาการเจ็บปวดจากการยืดกล้ามเนื้อ เราควรทำอย่างไร?
หากเจ็บปวดจากการยืดกล้ามเนื้อควรหยุดทำทันทีและพักผ่อน หากอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อประเมินสาเหตุและได้รับการรักษาที่เหมาะสม - การใช้โฟมโรลเลอร์มีประโยชน์อย่างไรบ้าง?
อุปกรณ์นี้มีประโยชน์ในการเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ช่วยลดจุดตึงเครียดและก้อนกล้ามเนื้อที่แข็ง ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายและเพิ่มความยืดหยุ่น นอกจากนี้ยังช่วยในการฟื้นฟูกล้ามเนื้อหลังการออกกำลังกายและลดอาการเมื่อย
อ้างอิงจาก
- The importance of stretching, Harvard Health, March 14, 2022, https://www.health.harvard.edu/staying-healthy/the-importance-of-stretching.
- Current Concepts in Muscle Stretching for Exercise and Rehabilitation, NIH, Febuary 07, 2012, https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3273886
- Lauren Bedosky, Types of Stretching: 7 Different Techniques to Foster Flexibility, Everyday Health, November 14, 2023, https://www.everydayhealth.com/fitness/types-of-stretching-different-techniques-to-foster-flexibility/.